ไขข้อข้องใจ ว่าทำไมออกกำลังกายแล้ว ยังหัวใจวาย
การออกกำลังกายทำให้ระดับความดันโลหิต ไขมัน, น้ำตาลในเลือด และ น้ำหนักลดลง ส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ทำไมยังมีข่าวว่า คนทั่วไปหรือแม้กระทั่งนักกีฬาที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยังเป็นโรคหัวใจหรือแม้กระทั่งมีการเสียชีวิตเฉียบพลัน?
สาเหตุของการเสียชีวิต...!!!
จากข้อมูลพบว่า การเสียชีวิตเฉียบพลันในนักกีฬา พบได้น้อยในอเมริกา พบแค่เพียง 1 ใน 100,000 รายต่อปี แต่จะพบมากขึ้นในกลุ่มนักกีฬาที่มีอายุมาก สาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลันนั้นขึ้นอยู่กับอายุของนักกีฬา
- กลุ่มอายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนมากเป็นจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ, หลอดเลือดหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
- กลุ่มอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนมากมักเป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่เมื่อมีหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว การออกกำลังกายอย่างหนักจะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะโรคหัวใจเฉียบพลันได้ โดยส่วนมาก ประมาณ 2 ใน 3 มักไม่มีอาการ โดยอาการแรกคือ การเสียชีวิตเฉียบพลัน มีเพียง 1 ใน 3 (หรือน้อยกว่า) จะมีอาการนำอย่างอื่นมาก่อน
เช็คอาการเสี่ยง…หัวใจทำงานผิดปกติ...!!
- เจ็บแน่นหน้าออกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับ
- จุกแน่นหรือแสบบริเวณลิ้นปี่
- หายใจสั้น หอบ
- อาจมีอาการเจ็บร้าวที่บริเวณแขน คอ ไหล่ และกราม
- เหงื่อออกท่วมตัว
- คลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น
เราควรตรวจคัดกรองนักกีฬาก่อนหรือไม่...???
สมาคมแพทย์โรคหัวใจของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ซักประวัติบางอย่าง ได้แก่ ประวัติเรื่องอาการนำ, ประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจบางอย่างของคนในครอบครัว การเสียชีวิตเฉียบพลัน หรือ การใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจและให้ตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจอย่างอื่น เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การวิ่งสายพานหรือการทำอัลตร้าซาวด์หัวใจ จะแนะนำให้ตรวจเมื่อสงสัยว่าอาจมีโรคหัวใจซ่อนอยู่ เป็นต้น
สนับสนุนข้อมูลโดย : นพ.อร่ามวงศ์ ทวีลาภ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745